- สวัสดีครับวันนี้ 425Audio มีเคล็ดลับ! การอัพเกรดเสียงหูฟัง QCY Ailybuds Pro+, Melobuds Pro ให้โปรขึ้นไปกว่าเดิม ซึ่งรับประกันได้เลยว่า ปรับทีเหมือนได้หูฟังตัวใหม่เลยก็ว่าได้
- ซึ่งในบทความนี้ ทีมงาน 425Audio จะแฝงความรู้เกี่ยวกับ ย่านความถี่ หรือ Frequency response ต่างๆไว้ให้ด้วย ว่าถ้าปรับความถี่ในย่านไหน แล้วจะเกิดอย่างไรบ้าง ให้ความรู้สึกการฟังเพลงเป็นยังไงบ้าง สำหรับเพื่อนๆที่อยากได้ความรู้เกี่ยวกับการปรับ Custom EQ เสียง ติดตามได้จากบทความนี้เลยครับ
- เครื่องมือ EQ เสียง เปรียบเหมือนพระเอกในวงการเสียงเลยก็ว่าได้ ในบางโอกาส EQ เป็น “ผู้ช่วยชั้นดี” ในการแก้ปัญหาเรื่องเสียง แค่แต่งเติมแค่นิดเดียว เปลี่ยนโลกได้เลย เรียกง่ายๆว่า จากหูฟังถูก ลำโพงถูก ก็แพงขึ้นได้ครับ "ถ้าใช้งานได้ถูกหลัก ถูกวิธี" แต่บางคนที่ใช้ไม่เป็น ปรับมั่ว ไม่ถูกหลัก อาจพาให้หูฟังราคาหลายตังค์ดูแย่ไปเลยก็ได้!
ตัวอย่างเคสวันนี้เป็น QCY 2 รุ่นใหม่ !!!
1. QCY Ailybuds Pro+ (รุ่น Earbuds)
2. QCY Melobuds Pro (รุ่น In-Ear)
- ที่เลือกเอาหูฟังไร้สายสองตัวนี้มา เพราะเมื่อปรับแต่งแล้ว ได้เสียงดีขึ้นกว่าเดิมเยอะ คุ้มค่ามากๆ และการปรับในแอพฯ หน้าตาเหมือนกันเป๊ะ สอนใช้งานได้ไม่ยากครับ
เริ่มปรับ EQ เสียงกัน
- หูฟังทั้งสองรุ่นนี้ ที่จริงคุณภาพเสียงได้มาตรฐานอยู่แล้วนะครับ สำหรับคนที่ปรับไม่เป็น ซื้อไปก็ใช้งานฟังเพลง ดูหนังได้รายละเอียดที่ครบเครื่อง แต่อย่างที่เข้าใจกันกับเรื่องรสนิยมส่วนตัว บางครั้งบางคนจะรู้สึกว่ายังไม่สุด ขาดโน่นนิด นี่หน่อย ก็ต้องแต่งเติมกันไปครับ
- ให้ทุกคนดาวน์โหลดแอพฯ QCY จาก App Store, Play Store ก่อน และทำการสมัครสมาชิกหรือ Register ก่อนการใช้งานครับ
เริ่มเปิดแอพฯ QCY ไปพร้อมๆกันครับ
- เมื่อเข้าแอพฯ QCY แล้ว ให้เราไปที่แท็ปที่ 2 ครับ ในหัวข้อ Sound(เสียง)
- สำหรับในหน้าแอพฯ ของ หูฟัง QCY ทั้ง 2 รุ่นนี้ เราสามารถเลือกปรับหลายแบบครับ ซึ่งเขาจะมาพร้อม EQ Preset ให้ด้วย
- เช่น Adaptive Sound Effect (ปรับอัตโนมัติ)
- หรือ ปรับตามแนวเพลง Pop, Heavy Bass, Rock, Soft ซึ่งเหมาะกับคนที่ปรับอะไรไม่ค่อยเป็น บางคนอาจเลือก Preset แล้วชอบเลย
- แต่สำหรับ 425Audio เอง “คิดว่ายังไปไม่สุดครับ” ไม่ชัดเจนเท่าที่ควร ทีนี้ Custom EQ ก็มีประโยชน์ทันที
วิธีปรับเสียงแบบ Custom EQ
- ในโหมด Custom ให้พวกเราไปที่ด้านขวาสุดครับ จะพบคำว่า Customization ให้เลือกแตะโหมดนั้น
- ทีนี้จะมีก้าน EQ ขึ้นมา 10 ก้านครับ 31 Hz. , 62 Hz. , 125 Hz. 250 Hz. , 500 Hz. , 1000 Hz. , 2000 Hz. 4000 Hz. , 8000 Hz. , 16000 Hz. ซึ่งทั้งหมดนี่คือช่วงความถี่ที่เราสามารถแต่งได้กับหูฟัง
- สำหรับคนพึ่งเริ่มนะครับ มีทริคเล็กๆน้อยๆคือ แนะนำให้กรุ๊ปให้แคบลงครับ เหลือแค่ความถี่ต่ำ, กลาง, สูง (Low, Mid, High) เพื่อให้ดูไม่ยุ่งยาก เหมือนปรับลำโพงที่มีแค่ 3 ปุ่ม
แนะนำให้ฝึกฟังเพลงต้นแบบ หรือเพลง Reference
- โดยปกติทั่วไปแล้ว ก่อนจะปรับเสียง EQ เราควรหาเพลงที่เป็น Reference ของตัวเราเองก่อน
- เพลง Reference คือเพลงที่เราฟังมันบ่อยมากๆ จนจำได้ว่าเครื่องดนตรีแต่ละช่วงเป็นโทนเสียงแบบไหน ประมาณไหน เพื่อให้เวลาปรับ แล้วจะได้เสียงตรงตามที่เราชอบฟังมากที่สุดครับ รวมถึงยังคงได้ความเป็นธรรมชาติของเสียงครับ
- ต่อไปเรามาดูกันดีกว่าครับ ว่าเสียงช่วงความถี่ช่วงไหน ให้ความรู้สึกการฟังเป็น Feeling ไหนบ้าง?
ความถี่เสียงต่ำ หรือ Low Frequency
ช่วงความถี่ 31 Hz. , 62 Hz. , 125 Hz.
- ความถี่เสียงช่วงต่ำนี้ จะส่งผลให้รู้สึกถึงความแน่นของเสียง หรือ Energy ให้ความอวบอิ่มของเสียงที่กำลัง Support ในบทเพลงครับ
- เมื่อปรับเพิ่ม-ลดเสียงในย่านนี้ จะรู้สึกถึงชิ้นดนตรีเช่น : กระเดื่องกลอง(Kick), กีตาร์เบส(E.Bass) คีย์บอร์ดสังเคราะห์ (Syn.Bass)
31 Hz.
เพิ่ม (boost) : องค์รวมของเพลงใหญ่ขึ้น, รู้สึกมิติเพลงลงได้ลึก ความหนาของเพลงชัดเจนขึ้น
ลด (cut) : ช่วยลดอาการเบลอของเสียงย่าน low , ในบางครั้งจะช่วยให้ฟังความถี่อื่นๆได้ชัดเจนขึ้น, ลดความอึดอัดได้
62 Hz.
เพิ่ม (boost) : พวกชุดกลองจะรู้สึกหนักแน่น ลูกใหญ่ขึ้น แสดงถึงน้ำหนัก-อิมแพคแรงปะทะที่ชัดเจน ให้ความรู้สึกเข้าใกล้ผู้ฟังได้ดีขึ้น
ลด (cut) : ช่วยลดความอื้ออึง อึดอัดของกลองชุดใหญ่ๆ หรือพวกอาการย่านเบสล้นได้ (ให้การฟังที่กระชับ สะอาดยิ่งขึ้น)
125 Hz.
เพิ่ม (boost) : หัวโน้ตของเบสเป็นตัวเป็นตนมากขึ้น ลูกหัวกระเดื่องชัดเจน ได้ไดนามิคหรืออิมแพคปะทะดี ถึงลูกถึงคน
ลด (cut) : ช่วยให้เพลงมีความนุ่มนวลหรือฟังสบายขึ้น ลดอาการเสียงบวมของกลองทอมต่างๆได้ รวมถึงกีตาร์เบสบวม
ความถี่เสียงกลาง หรือ Mid Frequency
ช่วงความถี่250 Hz. , 500 Hz. , 1,000 Hz. , 2,000 Hz.
-
ช่วงความถี่นี้แบ่งย่อยได้อีกนะครับ ในที่นี้จะแบ่งเป็น
Mid-low : 250Hz.
Mid : 500, 1000 Hz.
Mid-High : 2,000 Hz.
- ความถี่เสียงช่วงกลางนี้ จะส่งผลให้รู้สึกถึงความชัดเจนเป็นธรรมชาติของเสียงร้อง เสียงคอร์ด หรือ Harmony เครื่องดนตรีต่างๆในเพลงครับ บางครั้งเสียงหูฟังคลุมเครือไม่ชัด เสียงบางเสียงหนาไป ก็ขึ้นอยู่กับช่วงความถี่เสียงกลางนี่แหละครับ
- เมื่อปรับเพิ่ม-ลดเสียงในย่านนี้ จะรู้สึกถึงชิ้นดนตรีเช่น : เสียงร้อง, กีตาร์, กลองสแนร์ กลองทอม, คีย์บอร์ด, รายละเอียดเครื่องสาย เครื่อง Acoustic ต่างๆ
250 Hz.
เพิ่ม (boost) : เสียงร้องจะมีความหนา-อุ่นขึ้น, กลองสแนร์เนื้อหนามากขึ้น ใบใหญ่ขึ้น, เสียงคีย์บอร์ดโน้ตต่ำๆดูอลังการ กังวาลขึ้น
ลด (cut) : ช่วยลดอาการบวมของเสียงร้อง ลดเสียงโน้ตเบสย่านสูงที่คลุมเครือเกินไป ช่วยทำให้ฟังเสียงกลาง หรือฟังเสียงต่ำได้ง่ายขึ้น รวมถึงเสียงโดยรวมของเพลงสะอาดขึ้นได้
500 Hz.
เพิ่ม (boost) : เสียงกลางโดยรวมของเพลงชัดขึ้น เสียงคอร์ดหรือ Harmony จากเครื่องดนตรีหนาขึ้น ให้ความรู้สึกกังวาลมากขึ้น ไม่ต้องเพ่งฟัง
ลด (cut) : ลดความกังวาลของ harmony ที่มากไป รวมถึงความกังวาลของกลองทอมได้ หรือช่วยให้เสียงร้องเป็นธรรมชาติขึ้นได้
1,000 Hz.
เพิ่ม (boost) : ให้เสียงพูด-ร้อง นำหน้าดนตรี ฟังง่าย หรือพุ่งเข้าหน้ามากขึ้นเวลาฟัง หรือบางครั้งจะได้ความชัดเจนของหัวกระเดื่อง
ลด (cut) : ลดเสียงเครื่องคอร์ดต่างๆให้ละมุน ให้ความรู้สึกที่ smooth ฟังสบายขึ้น ไม่เสียดหู
2,000 Hz.
เพิ่ม (boost) : เพิ่มความคมของเสียงพูด กีตาร์เสียงแตกชัดเจน ตีคอร์ดฟังสนุก เล่นโน้ตต่างๆแล้วเคลียร์-กระจ่าง เสียงฉาบแฉ, hi-hat กระฉับกระเฉง
ลด (cut) : ลดความคมของเสียงร้องได้ ได้ความนุ่มนวลเสียงร้องมากขึ้น ลดความสาดของกีตาร์ rock, รวมถึงฉาบ hi-hat ได้
ความถี่เสียงสูง หรือ High Frequency
ช่วงความถี่ 4,000 Hz. , 8,000 Hz. , 16,000 Hz.
- ความถี่ช่วงแถวนี้จะเป็นหางๆเสียงชิ้นดนตรีของเพลงครับ โดยรวมช่วยให้ความรู้สึกสว่าง, ความโปร่ง-เปิด ฟังแล้วไม่ทึบ ไม่ dark หรือช่วยเติมความครบเครื่องของ dynamic mix range ให้ครบ น่าฟังมากยิ่งขึ้นครับ
- เมื่อปรับเพิ่ม-ลดเสียงในย่านนี้ จะรู้สึกถึงชิ้นดนตรีเช่น : เสียงร้อง เสียงลมหายใจ, เสียงฉาบแฉ เครื่องทองเหลือง, ความชัดเจนของโน้ตกีตาร์, ความคมของแรงปะทะหรือ Attack เสียงกลองต่างๆ
4,000 Hz.
เพิ่ม (boost) : ได้ความใสของ hi-hat ขึ้น โน้ตกีตาร์แบบ picking ชัดเป็นเม็ดขึ้น แนว jazz หรือ acoustic เพิ่มแล้วได้สีสันการฟังดี
ลด (cut) : ช่วยให้เสียงเพลงรวมอบอุ่นขึ้นได้ ฟังสบาย ฟัง smooth ขึ้น เสียงฉาบแฉไม่จิกกัดหู
8,000 Hz.
เพิ่ม (boost) : เพิ่มสีสันหรือความรู้สึกเอฟเฟคต่างๆ ให้มีความฟุ้งซ่าน เพิ่มความกังวาลของหางเสียงร้อง และเครื่องดนตรี ดนตรีมีความคม มีกรอบที่ชัดเจน
ลด (cut) : ลดเสียงบาดหู ลดเสียงคมๆของดนตรี ลดอาการเสียงร้องที่มีเสียงพยัญชนะ ส,ซ ช่วยหลอกให้เพลงรวมๆหนาขึ้น Smooth ขึ้นได้
16,000 Hz.
เพิ่ม (boost) : เพิ่มบรรยากาศของ air tone ให้เพลงมีความสว่าง-ชิ้นดนตรีใสมีคัลเลอร์ของเสียง ได้มิติเสียงที่กว้างขึ้น หางเสียงดนตรียาวขึ้น ฟังแล้วรู้สึกเปิด แต่งเติมให้ดนตรีเพราะขึ้นได้
ลด (cut) : ช่วยให้เพลง warm หรือเสียงอุ่น น่าฟังขึ้น ในบางโอกาสที่เพลงมีคัลเลอร์ของเสียงเยอะเกินไป จะช่วยให้ชิ้นดนตรีฟังสมจริงกว่าเดิม
ตัวอย่าง Custom EQ แบบที่ 425Audio ชื่นชอบ
ฟังทั่วไป (Mainstream)
-
เน้นฟังเบส เน้นแรงปะทะที่สนุกขึ้น ต้องการ Energy เยอะๆ (Bass)
-
เน้นฟังเคลียร์ เน้นความใส เบสโปร่งๆ (Mid & High)
- หวังว่าเพื่อนๆจะได้รับสาระความรู้ หรือเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับการปรับเสียง EQ ติดไปบ้างนะครับ หากผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยไว้ล่วงหน้าด้วยครับ