รู้จัก Mechanical Keyboard ไอเทมยอดนิยมของคนที่คลั่งไคล้ในการพิมพ์

รู้จัก Mechanical Keyboard ไอเทมยอดนิยมของคนที่คลั่งไคล้ในการพิมพ์
20 มกราคม 2023 10651 ผู้เข้าชม
รู้จัก Mechanical Keyboard ไอเทมยอดนิยมของคนที่คลั่งไคล้ในการพิมพ์

               สำหรับเกมเมอร์ หรือคนทำงานที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ คีย์บอร์ดถือเป็นหนึ่งไอเทมที่ขาดไม่ได้ โดยประเภทคีย์บอร์ดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบันก็คือ Mechanical Keyboard หรือคีย์บอร์ดแบบกลไก และในบทความนี้เราจะมาเจาะลึกถึงรายละเอียดต่างๆ ว่ามีจุดเด่น และข้อดียังไง ทำไมถึงเป็นที่นิยมของเหล่าเกมเมอร์และคนทำงาน

 


 

Mechanical Keyboard คืออะไร

 


               คีย์บอร์ดกลไก หรือ แมคคานิคอลคีย์บอร์ด (Mechanical Keyboard) คือคีย์บอร์ดที่มีหน้าตาคล้ายกับคีย์บอร์ดทั่วไป แต่มีความต่างกันตรงที่กลไกของการทำงาน โดย Mechanical Keyboard จะทำงานโดยใช้ปุ่มตัวอักษรหรือคีย์แคป (Keycaps) ผ่านกลไกของสวิตซ์ (Switch) ที่เชื่อมต่อกับแผงวงจร (PCB) เพื่อป้อนข้อมูลไปยังคอมพิวเตอร์ ซึ่งการทำงานของสวิตซ์แต่ละแบบก็จะมีความแตกต่างกัน ให้สัมผัสการกดที่ไม่เหมือนกัน 


               นอกจากนี้ Mechanical Keyboard ยังมีความทนทาน เพราะใช้สปริงโลหะประกอบกับกลไกภายในปุ่ม ที่รองรับการกดได้มากกว่า 50 ล้านครั้ง และมีการใช้สวิทช์แยกกันในแต่ละปุ่ม ถ้าหากปุ่มใดปุ่มนึงเกิดความเสียหาย ก็สามารถถอดเปลี่ยนหรือซ่อมเฉพาะปุ่มที่เสียได้ 

 


 

ขนาดของ Mechanical Keyboard


               Mechanical Keyboard ในปัจจุบันนั้นมีหลายขนาด สามารถแบ่งได้ตามจำนวน และการจัดวางของปุ่มคีย์แคป หรือที่เรียกว่า Layout มีทั้งแบบ Full-Size 100%, 75% และ 60% โดยขนาดของ Layout แต่ละประเภทก็จะมีจุดเด่นและหน้าตาที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละคน ว่าเราเหมาะกับคีย์บอร์ดแบบไหน หรือชอบสไตล์ไหน 



คีย์บอร์ดขนาดเต็ม (Full-Size Keyboard)

 

               Full-Size Keyboard หรือ Mechanical Keyboard Layout แบบ 100% คือคีย์บอร์ดขนาดมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลก และได้รับความนิยมมากที่สุด เหมาะกับผู้ใช้งานทั่วไป รวมไปถึงมือใหม่ที่ต้องการปุ่มฟังก์ชั่นที่ครบครัน


               โดยจะมีจำนวนทั้งหมด 104 ปุ่ม มีครบทั้งปุ่มตัวอักษร ปุ่มตัวเลข ปุ่มลูกศร และปุ่มฟังก์ชั่นเสริมอื่นๆ เหมาะกับการใช้งานทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะพิมพ์งานหรือเล่นเกม


คีย์บอร์ดไร้ปุ่มตัวเลข (Ten-Key-Less Keyboard : TKL)


               Ten-Key-Less Keyboard (TKL) หรือ Mechanical Keyboard Layout แบบ 80% คือคีย์บอร์ดขนาดกลางที่ลดทอนส่วน Numpad หรือปุ่มตัวเลขออก โดยจะมีเพียง 87-88 ปุ่ม


               ด้วยขนาดที่เล็กลง แต่ยังสามารถใช้ฟังก์ชั่นที่จำเป็นได้ และยังทำให้จัดสรรพื้นที่บนโต๊ะได้มากขึ้น เรียกได้ว่าถูกใจสายเกมเมอร์และคนทำงานหลายๆ คน


คีย์บอร์ดขนาดกะทัดรัด (Compact Keyboard)


               Compact Keyboard หรือ Mechanical Keyboard Layout แบบ 60% คือคีย์บอร์ดขนาดเล็กที่สุด โดยจะมีการลดทอนในส่วนของปุ่มตัวเลข (Numpad) ปุ่มฟังก์ชัน F1-F12 ปุ่มลูกศร และปุ่มฟังก์ชั่นเสริมอื่นๆ


               จุดเด่นของ Compact Keyboard คือการจัดวางปุ่มที่แนบชิดติดกัน ทำให้มีขนาดที่ใกล้เคียงกับคีย์บอร์ดบน Laptop ตามมาด้วยน้ำหนักที่น้อยลง พกพาได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

 


 

Keycab แป้นสำหรับการพิมพ์


               Keycab หรือคีย์แคป คือพลาสติกที่ครอบอยู่บนสวิตช์ เป็นส่วนที่สัมผัสกับนิ้วมือบ่อยที่สุด มีการสกรีนตัวอักษรไว้ที่ด้านบน เพื่อให้ผู้ใช้สามารถพิมพ์คำสั่งได้ตามต้องการ โดย Keycab สามารถแบ่งออกได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งตามวัสดุที่ใช้ผลิต หรือขนาดความสูง

 


แบ่งตามวัสดุ


               โดยวัสดุหลักๆ ในการผลิต Keycab จะมีทั้งพลาสติก ABS (Acrylonitrile Butadiene Styrene) ที่เป็นวัสดุพื้นฐาน มักพบเห็นได้ในคีย์บอร์ดทั่วไป เพราะมีราคาที่ไม่แพง น้ำหนักเบา และมีความยืดหยุ่นสูง แต่หากใช้งานเป็นระยะเวลานานอาจขึ้นเงาได้ง่าย


               อีกหนึ่งประเภทคือ PBT (Polybutylene Terephthalate) เป็นพลาสติกที่มีคุณภาพสูงกว่า ABS ให้ผิวสัมผัสที่มีความสาก ไม่ขึ้นเงาหากใช้ไปนานๆ แต่ก็มีข้อจำกัดคือความยืดหยุ่นที่น้อยกว่า และมีราคาที่สูงกว่า ABS


แบ่งตาม Profile หรือความสูง


               อีกหนึ่งสิ่งที่จำแนกประเภทของ Keycab ก็คือ Profile หรือลักษณะทางกายภาพ ที่จะแตกต่างกันออกไปตามความสูงและต่ำ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ High-Profile และ Low-Profile 


               โดย Keycab แบบ High-Profile คือ Keycab ที่มีความสูงเท่ากับ Keyboard ทั่วไป ทำงานร่วมกับสวิตช์ขนาดมาตรฐาน เป็นที่นิยมกับในกลุ่มคนที่นิยมคีย์บอร์ด


               ส่วน Keycab แบบ Low-Profile ถูกออกแบบมาให้มีความบาง ทำงานร่วมกับสวิตช์แบบ Low-Profile โดยเฉพาะ ทำให้ Keyboard ที่มี Keycab แบบ Low-Profile มีขนาดความสูงที่ต่ำกว่าปกติ ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้พกพาได้ง่าย และช่วยให้การพิมพ์งานถูกหลักสรีรศาสตร์มากขึ้น

 


 

Mechanical Switch สวิตช์แบบกลไก


               อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญมากๆ ใน Mechanical Keyboard ก็คือสวิตช์ ที่ใช้สำหรับส่งสัญญาณไปยังแผงวงจร ซึ่งสวิตซ์บน Mechanical Keyboard จะแบ่งประเภทตามสี โดยจะมี 3 สีหลักๆ ได้แก่ Red Switch (Linear), Blue Switch (Clicky) และ Brown Switch (Tactile) ซึ่งแต่ละสีจะมีกลไกการทำงานที่แตกต่างกัน ทำให้มีเสียง และสัมผัสในการกดที่ไม่เหมือนกัน 



Red Switch


               Key Switch ประเภท Linear แรงกดจังหวะเดียว โดยการทำงานของก้านปุ่มจะกดลงไปที่แผงวงจรโดยตรงทันที ทำให้การพิมพ์ตอบสนองได้ไว เหมาะสำหรับผู้ใช้งานที่คุ้นชินกับปุ่มที่ไม่อาศัยน้ำหนักในการกดเยอะ ปุ่มกดน้ำหนักเบา หรือมีข้อจำกัดทางด้านเสียง รวมไปถึงเหล่าเกมเมอร์ที่จำเป็นต้องกดปุ่มหลายปุ่มในการควบคุมขณะเล่นเกมอย่างรวดเร็ว


Blue Switch


               Key Switch ประเภท Clicky แรงกดสองจังหวะ ทำให้มีแรงต้านมากกว่าประเภทอื่นๆ จุดเด่นก็คือความสนุกในการกดที่คล้ายกับเครื่องพิมพ์ดีด และเมื่อกดใช้งานจะมีเสียงคลิก ใครที่เป็นสายเกมเมอร์ หรือชอบพิมพ์งานแบบมันส์ๆ สนุกๆ ต้องถูกใจมากแน่นอน


Brown Switch


               Key Switch ประเภท Tactile แรงกดสองจังหวะ ออกแบบมาให้อยู่กึ่งกลางระหว่าง Linear ที่เป็น Red Switch กับ Clicky ของ Blue Switch โดยจะมีเสียงที่ทุ้มและเบากว่า Blue Switch เหมาะกับใครที่ชอบทางสายกลาง ไม่เงียบ แต่ก็ไม่ดังจนเกินไป และยังให้ความสนุกในการพิมพ์อยู่

 


 

Hot-Swappable เปลี่ยนสวิตช์ได้ด้วยตัวเอง



               คำว่า Hot-Swap ในวงการคอมพิวเตอร์ คือการเปลี่ยนอุปกรณ์ในขณะที่เครื่องคอมพิวเตอร์กำลังทำงาน โดยไม่ต้องปิด-เปิดอุปกรณ์ใหม่ ทำให้ไม่รบกวนการทำงานของอุปกรณ์นั้นๆ


               สำหรับ Hot-Swappable Keyboard ก็คือ Mechanical Keyboard ที่สามารถถอดและเปลี่ยนสวิตช์ได้ โดยที่ไม่ต้องบัดกรี ใครที่อยากปรับแต่งสวิตช์บนคีย์บอร์ด หรือหากมีสวิตช์ที่เสีย ก็สามารถถอดออก และเปลี่ยนใส่สวิตช์ใหม่ลงไป ก็สามารถใช้งานต่อได้ทันที 


               ซึ่ง Mechanical Keyboard จะมีทั้งแบบ Hot-Swap และ Non-Hot Swap สำหรับมือใหม่ที่กำลังมองหาคีย์บอร์ดที่สามารถปรับแต่งสวิตช์ได้ ให้มองหา Keyboard ที่มีการระบุสเปคว่าสามารถ Hot-Swap ได้ เพื่อที่จะปรับแต่งสวิตช์ได้เองตามความต้องการ และตอบโจทย์การใช้งานของตัวเองมากที่สุด

 


 

RGB กิมมิคที่คนเล่น Mechanical Keyboard หลงใหล



               เชื่อเลยว่าคนเล่นคีย์บอร์ดส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับไฟ RGB ด้วยการดีไซน์ลูกเล่นของไฟ RGB หลากหลายรูปแบบ ทั้งรูปแบบแบบคลื่น (Wave) ไฟไล่จากซ้ายไปขวา บนลงล่าง กระจายออกจากตรงกลาง หรือรูปแบบไฟติดเฉพาะปุ่มที่กด ซึ่งช่วยเพิ่มความสนุกในการใช้คีย์บอร์ดได้ดีมากๆ


               นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถมองเห็นแป้นพิมพ์ได้ง่ายขึ้น เมื่อต้องทำงานอยู่ในห้อง หรือพื้นที่ที่มีแสงน้อย แต่ถ้าใครที่สามารถพิมพ์งาน หรือใช้งานแบบไม่ต้องมองคีย์บอร์ดได้ ไฟ RGB ก็จะไม่มีผลต่อการใช้งาน นอกจากได้เรื่องของความสวยงามเท่านั้น

 


 

มือใหม่ควรรู้ หากจะซื้อ Mechanical Keyboard



               ข้อสำคัญที่มือใหม่ควรรู้คือความต้องการในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น ขนาดของ Keyboard, Layout ปุ่มกด, ลักษณะ Switch, ลักษณะของ Keycaps, Profile ของแป้นพิมพ์ และดีไซน์ของคีย์บอร์ด ไปจนถึงลูกเล่นของไฟ RGB ซึ่งจะช่วยให้เลือก Keyboard ที่ตรงกับความต้องการได้ง่ายขึ้น


               ถ้าใครที่เน้นใช้ Keyboard สำหรับพิมพ์งาน และต้องทำงานที่ใช้ตัวเลขบ่อยๆ คีย์บอร์ดแบบ Full-Size 100% จะตอบโจทย์ได้มากกว่า หรือสายจัดโต๊ะคอมที่อยากเพิ่มพื้นที่บนโต๊ะ Keyboard Layout 60% ก็เป็นตัวเลือกที่ดี


               หรือถ้าใครที่ชื่นชอบการแต่งโต๊ะคอม ก็สามารถเลือกดีไซน์ของคีย์บอร์ดให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ได้เลย ยิ่งคีย์บอร์ดบางรุ่นที่มีไฟ RGB จะยิ่งช่วยเพิ่มสีสันให้กับโต๊ะทำงานได้มากขึ้น


               ในเรื่องของสวิตช์ถ้าใครที่ถนัดใช้แป้นพิมพ์ของ Laptop แนะนำว่าให้เลือกสวิตช์แบบ Red Switch (Linear) หรือ Keycab แบบ Low-Profile ที่มีแรงต้านที่น้อย ตอบสนองได้ไว ช่วยให้สามารถพิมพ์ได้คล่องมือ ส่วนใครที่เน้นความสนุก อยากได้สัมผัสการกดที่แม่นยำ สวิตช์แบบ Blue Switch (Clicky) จะเหมาะที่สุด


               สำหรับใครที่รู้แล้วว่าคีย์บอร์ดแบบไหนที่เหมาะกับเรา 425° เรามี Mechanical Keyboard ไว้ให้เลือกหลากหลายแบรนด์ หลากหลายดีไซน์ สามารถเข้าไปดูสินค้าได้ที่ www.425degree.com และใครที่อยากรู้รายละเอียดหรือข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคีย์บอร์ดแต่ละรุ่น ก็สามารถเข้าไปอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์นี้เลย